Leave your phone number and
we will call you back
Line Live Chat
Messenger Live Chat
Send an Email
Call You Back

ทำไม Goodyear Welted ถึงเป็นพื้นรองเท้าที่ยอดเยี่ยมที่สุด และมันคุ้มค่ากับการลงทุนไหม?

ในโลกแห่งรองเท้าสุภาพบุรุษ การจะวัดว่ารองเท้าคู่ไหนมีคุณภาพดีนั้นนอกจากจะต้องพิจารณาเรื่องวัสดุที่นำมาใช้ผลิตแล้ว อีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่สามารถมองข้ามได้อย่างเด็ดขาดคือ “โครงสร้าง” หรือ “เทคนิคในการติดเย็บพื้น”

แน่นอนว่าแต่ละแบรนด์หรือช่างแต่ละคนย่อมมีเทคนิคในการติดเย็บพื้นรองเท้าแตกต่างกันออกไปตามประสบการณ์และความชำนาญเฉพาะตัว ดังนั้นในโลกนี้จึงมีวิธีการติดเย็บพื้นรองเท้าหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการติดพื้นรองเท้าด้วยกาว (Glued Sole / Cemented Sole) ซึ่งเป็นเทคนิคที่ง่ายและประหยัดที่สุด เพียงแค่นำพื้นรองเท้ากับตัวรองเท้ามาทากาวแล้วประกบเข้าด้วยกัน ส่วนใหญ่จะใช้กับพื้นรองเท้ายางเป็นหลัก ข้อดีคือมีราคาถูก น้ำหนักเบา และมีความยืดหยุ่นสูง สวมใส่ได้สบายเท้า แต่ข้อเสียคือความทนทานและอายุการใช้งานที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้เทคนิคแบบอื่น

การเย็บพื้นแบบ Blake Stitch คืออีกเทคนิคที่ได้รับความนิยม เป็นการติดพื้นรองเท้าด้วยการเย็บพื้นรองเท้าด้านล่างทะลุขึ้นไปถึงตัวรองเท้าแล้วแทงกลับทะลุลงมาด้านล่างอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ รอบพื้นรองเท้า ข้อดีของ Blake Stitch คือทนทานกว่าการติดพื้นรองเท้าด้วยกาว ส่วนข้อเสียคือราคาที่สูงขึ้น และอาจมีน้ำซึมเข้าสู่ตัวรองเท้าผ่านรูที่เย็บได้โดยตรง อีกทั้งการเปลี่ยนพื้นรองเท้านั้นทำได้ยาก เพราะเสี่ยงต่อการทำพื้น Insole ด้านในเสียหายได้

อย่างไรก็ตามนอกจาก 2 เทคนิคที่กล่าวไปข้างต้น ยังมีอีกหนึ่งเทคนิค เป็นเทคนิคที่ได้รับการยอมรับว่าดีที่สุด ทำให้รองเท้ามีคุณภาพยอดเยี่ยมที่สุด ทั้งๆ ที่เป็นเทคนิคเก่าแก่ที่สืบทอดมากว่าศตวรรษ นั่นก็คือ Goodyear Welted

เทคนิคการติดเย็บพื้นแบบ Goodyear Welted คืออะไร มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมรองเท้าที่ติดเย็บพื้นด้วยเทคนิคนี้จึงมีราคาที่สูงกว่าแบบอื่นอย่างก้าวกระโดด และผลลัพธ์ที่ออกมาจะยอดเยี่ยมสมราคาหรือไม่ Old Posh จะมาเล่าให้ฟัง

จุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์รองเท้าไปตลอดกาล

นิวยอร์ก, สหรัฐอเมริกา
ค.ศ. 1869

หลังจากผ่านพ้นยุคสมัยแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมมาได้ไม่นาน ไฟฟ้า พลังงานไอน้ำ และเครื่องจักรเริ่มเข้ามามีบทบาทในชีวิตมนุษย์มากขึ้น เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ ชาร์ลส กู๊ดเยียร์ จูเนียร์ ชายหนุ่มที่เพิ่งได้รับมรดกก้อนโตมาจากผู้เป็นพ่อกำลังหาลู่ทางในการเริ่มธุรกิจของตัวเอง เขาไม่ใช่ช่างทำรองเท้า ไม่ใกล้เคียงเลยแม้แต่น้อย ทว่าวันหนึ่งโชคชะตาก็นำพาให้เขาได้ไปรู้จักกับ “เจมส์ ฮานาน”

เจมส์ เป็นช่างรองเท้าฝีมือดีที่เปิดร้านอยู่ในกรุงนิวยอร์ก ส่วน ชาร์ลส คือลูกค้าขาประจำ ทั้งคู่มีโอกาสได้สนทนากันบ่อยครั้ง กระทั่งวันหนึ่ง เจมส์ ได้บอกว่าเขามีจักรเย็บรองเท้ารุ่นใหม่ ที่มีประสิทธิภาพสูง แตกต่างจากเครื่องอื่นๆ ในท้องตลาดโดยสิ้นเชิง โดยจักรดังกล่าวดัดแปลงให้ตัวเครื่องใช้เข็มโค้งและสว่านในการเย็บรอยบนรองเท้าโดยไม่ต้องถอดชิ้นรองเท้าหรือเจาะพื้นรองเท้า

เมื่อเห็นความยอดเยี่ยมของจักรเย็บรองเท้าเครื่องนี้ ชาร์ลส ผู้มีหัวการค้าอยู่แล้วก็รู้ในทันทีว่านี่คือสิ่งที่จะเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์รองเท้าไปตลอดกาล มันสามารถลบจุดด้อยของการติดเย็บแบบ Blake Stich ที่ได้รับความนิยมก่อนหน้านี้อย่างไร้ที่ติ ดังนั้นเขาจึงไม่รอช้าที่จะควักเงินก้อนโตเพื่อขอซื้อสิทธิบัตรจักรเครื่องนี้จาก เจมส์

หลังจากได้รับสิทธิบัตรมาอยู่ในการครอบครองแล้ว ชาร์ลส ก็ได้ว่าจ้าง ออกุสเต เดทรอย และ เดเนี่ยล มิลส์ ช่างจากโรงงาน American Shoe Tip Company ให้ช่วยแก้ไขข้อบกพร่อง รวมถึงเติมเต็มความสมบูรณ์แบบให้กับจักรเครื่องดังกล่าว ก่อนจะมีการผลิตออกมาจำหน่ายในภายหลัง

ด้วยประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่มหัศจรรย์ คำว่า Goodyear Welted ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ชาร์ลส กู๊ดเยียร์ จูเนียร์ จึงแพร่กระจายไปทั่วสหรัฐอเมริกาอย่างรวดเร็ว และภายหลังทั่วทั้งโลกก็ได้รู้จักเทคนิคการติดเย็บพื้นรองเท้าแบบนี้เช่นเดียวกัน เป็นการจารึกประวัติศาสตร์บทใหม่แก่โลกแห่งรองเท้าได้อย่างยิ่งใหญ่

จากวันนั้นถึงวันนี้เวลาก็ผ่านมากว่า 150 ปีแล้ว แต่การติดเย็บพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted ก็ยังคงเป็นเทคนิคที่ยอดเยี่ยม ให้ผลลัพธ์เป็นรองเท้าคุณภาพสูงและทนทานที่สุดอย่างไม่เสื่อมคลาย

ศาสตร์แห่ง Goodyear Welted

ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงเกิดความสงสัยว่าเทคนิคการติดเย็บพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted เป็นอย่างไร เราขออธิบายเทคนิคที่สลับซับซ้อนและยุ่งยากให้ทุกคนเข้าใจได้โดยง่าย

  1. คำว่า Welt ในที่นี้หมายถึงชิ้นหนังที่เพิ่มขึ้นเพื่อเย็บติดเข้าพื้น Insole และตัวรองเท้า โดยจะเย็บเป็นแนวนอน ทำให้มีแผ่นหนังที่มีลักษณะเป็นลิ้นหรือคิ้วยื่นออกมาจากตัวรองเท้าเพิ่มขึ้นมา 1 ชั้น
  2. การติดเย็บพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted เริ่มต้นด้วยการใช้เครื่องจักรเย็บชิ้นหนังติดเข้ากับตัวรองเท้าเป็นแนวนอนไปรอบๆ พื้นรองเท้า ซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของเทคนิคแบบนี้ที่เทคนิคแบบอื่นไม่สามารถลอกเลียนได้
  3. จากนั้นผู้ผลิตจะเติมส่วนที่เป็นโครงสร้างเช่น เศษไม้คอร์ก ลงไปในช่องว่างตรงกลางพื้นรองเท้าเพื่อให้ได้ระดับเสมอกันกับระดับของชิ้นหนังที่เย็บติดไว้แล้ว และเป็นเหมือน Footbed (แผ่นรองเท้า) ที่จะปรับความเว้าโค้งให้เข้ากับฝ่าเท้าของผู้สวมใส่อีกด้วย
  4. นำพื้นรองเท้าอีกชิ้นที่เป็นส่วน Outsole มาทากาวติดลงไปอีกชั้นหนึ่ง โดยใช้ชิ้นหนังที่เย็บแนวนอนเอาไว้ก่อนเป็นฐานสำหรับการทากาวติดเข้าด้วยกัน
  5. ใช้เครื่องจักรเย็บทะลุระหว่างส่วนที่เป็นชิ้นหนังกับพื้น Outsole ที่ติดเพิ่มเข้ามาด้วย โดยจะเย็บขึ้นลงสลับไปมาตลอดรอบตัวรองเท้า เพื่อเพิ่มความแข็งแรงและความทนทานในการใช้งาน
  6. ปิดท้ายด้วยการตอกส้นด้วยตะปู และเจียเก็บส่วนของหนังที่เกินออกมาเพื่อความเรียบร้อย สิ้นสุดการติดเย็บพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted อย่างสมบูรณ์

ทำไมต้อง Goodyear Welted?

ด้วยขั้นตอนที่สลับซับซ้อน จำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่สั่งสมมาอย่างยาวนานของช่างฝีมือเฉพาะทาง จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมรองเท้าที่ติดเย็บพื้นแบบ Goodyear Welted จึงมีราคาสูงกว่ารองเท้าที่ติดเย็บพื้นแบบอื่นอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตามเมื่อมีราคาที่สูง ก็หมายถึงคุณภาพที่สูงกว่ามากด้วยเช่นกัน

ข้อดีประการแรกของรองเท้าที่เย็บพื้นแบบ Goodyear Welted คือเป็นการเย็บที่ทนทาน ใช้งานได้นานกว่าแบบอื่นๆ  นอกจากนั้นยังมีประสิทธิภาพในการกันน้ำ เพราะมีการเพิ่มการเย็บพื้นเป็นสองขั้นตอน ประการต่อมาเมื่อพื้นรองเท้าชิ้นนอกสึกไปแล้ว ผู้สวมใส่สามารถนำรองเท้าไปให้ช่างรองเท้าเลาะพื้นเก่าออกและเปลี่ยนพื้นหนังใหม่โดยใช้ฐานชิ้นหนังอันเก่าได้ เพราะฐานเป็นเพียงคิ้ว ไม่ได้สึกหรอตามพื้นรองเท้าไปด้วย จึงทำให้รองเท้าที่ติดเย็บพื้นด้วยวิธีนี้สามารถยืดอายุการใช้งานไปได้เรื่อยๆ แบบแทบไม่มีที่สิ้นสุด ตราบใดที่ตัวรองเท้าด้านบนยังคงอยู่ในสภาพที่ดี

Water resistance

“ผมเคยซื้อรองเท้าที่ติดเย็บพื้นด้วยวิธีที่ไม่ใช่ Goodyear Welted ในราคาคู่ละ 40 ดอลลาร์แต่ผมต้องเปลี่ยนรองเท้าปีละ 2 ครั้งจนกระทั่งผมได้ซื้อรองเท้า Goodyear Welted ในราคาคู่ละ 430 ดอลลาร์แน่นอนว่าราคามันแพงกว่าถึง 10 เท่าแต่รองเท้าคู่นั้นผมใช้งานมากว่า 10 ปีจนถึงตอนนี้สภาพมันก็ยังคงสมบูรณ์”

“นี่คือรองเท้าที่คุณภาพคุ้มราคาอย่างแท้จริง”  แฮรี่ จาร์แมน ผู้ก่อตั้งและบรรณาธิการบริหาร The Gentleman’s Journal กล่าว และคงเป็นการตอบคำถามที่หลายคนสงสัยว่าทำไมทั้งๆ ที่รองเท้าแบบ Goodyear Welted แพงกว่ารองเท้าแบบอื่น แต่ความนิยมของมันก็ยังคงไม่เสื่อมคลาย

การเย็บโครงสร้างรองเท้าและพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted ถือเป็นเทคนิคที่มีคุณภาพสูง ต้องใช้ความชำนาญรวมถึงการดูแลเอาใจใส่ในการผลิตที่ดีเยี่ยม มันจึงเป็นมาตรฐานที่แบรนด์รองเท้าระดับสากลนิยมใช้กัน เช่นเดียวกับ OLD POSH ที่รองเท้า Cap Toe Oxford รุ่น Brighton และ Penny Loafer รุ่น Hastings ก็ใช้การติดเย็บพื้นรองเท้าแบบ Goodyear Welted ดังนั้นเราจึงมั่นใจว่ารองเท้า OLD POSH จะเป็นรองเท้าที่มอบคุณภาพและความคุ้มค่าให้กับลูกค้าทุกคน

Author: OLD POSH Team

SHOP YOUR LOOK

BRIGHTON

CAP TOE OXFORD
More Details

Hastings

Penny Loafer
More Details

LATEST POSTED